ความท้าทาย 19 ติดตามพระเยซู

บทกลอนแห่งความรักของเปาโลใน 1 โครินธ์ 13 ตอบคำถามที่ว่า: “ความรักคืออะไร?” จากนั้นได้แสดงให้เห็นว่าการทำตามแบบนี้คือวิธีที่ดีที่สุด ในฐานะผู้ที่ถูกรัก ผู้เชื่อจะต้องเป็นผู้ที่สำแดงความรักต่อผู้อื่น เปาโลยกย่องคุณค่าของความรัก โดยเฉพาะในบริบทของคริสตจักรและในแบบของพี่น้องชายหญิง นอกจากนี้เปาโลยังห่วงใยคนที่อยู่นอกคริสตจักรด้วย


ใน 2 โครินธ์ เปาโลเน้นที่จุดเชื่อมโยงระหว่างสถานะของเราในฐานะผู้ที่ถูกสร้างใหม่จากการที่เราคืนดีกับพระเจ้า กับความรับผิดชอบที่ตามมาในพันธกิจเรื่องการคืนดี โดยการประกาศข่าวประเสริฐและความหวังในพระเยซูกับผู้คนที่อยู่รอบตัวเรา พระเจ้าเลือกที่จะวาง “สมบัติอันล้ำค่านี้” (ข่าวประเสริฐเรื่องพระเยซู) ลงบนภาชนะที่เปราะบาง คือ ชีวิตของเรา ที่เปรียบเหมือนภาชนะดิน แม้เราจะอ่อนแอ แต่เราก็ถูกเรียกให้ประกาศข่าวประเสริฐ (2 โครินธ์ 5:11-6:2)


หนึ่งในปัญหาที่คริสตจักรยุคแรกต้องเผชิญ คือ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น พวกเขาควรวางตัวอย่างไรในฐานะคนของพระเจ้า? ในแง่หนึ่งที่เปโตรได้วางไว้ คือ พวกเขาเป็นคนแปลกหน้า (1 เปโตร 2:11) และพระเจ้าให้พวกเขาอยู่ในโลกนี้พร้อมกับภารกิจ พวกเขามีความหวังที่ไม่เหมือนใคร ไม่เหมือนคนมากมายที่อยู่รอบตัวเขา ในโลกที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ พวกเขาสามารถวางใจในความรักของพระเจ้าได้ โดยรู้ว่าอนาคตของพวกเขาจะปลอดภัย เพราะว่าพวกเขาคือผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกและเป็นชนชาติพิเศษของพระองค์ เหมือนอย่างชนชาติอิสราเอลในสมัยพันธสัญญาเดิม 


สำหรับยากอบ การสำแดงความเชื่อออกมาเป็นการกระทำคือสิ่งสำคัญ หากว่าความเชื่อทำให้เรามีชีวิตที่แตกต่างและเป็นพรต่อผู้อื่น ถ้าไม่เช่นนั้นก็ไร้ประโยชน์


ยอห์นให้ความสำคัญกับความรักที่เรามีต่อผู้อื่น ซึ่งความรักนี้ ที่ท่านรู้จักดี คือ หลักฐานสำคัญที่บอกว่าเราเป็นสาวกของพระเยซู


จดหมายแต่ละฉบับเหล่านี้ เน้นย้ำเรื่องประชากรแห่งพันธสัญญาใหม่ของพระเจ้า ถูกเรียกให้อาศัยอยู่ในโลกที่ขาดแคลนแต่เกลียดชังกันได้อย่างไร



เชื่อมโยง: เรื่องราวทั้งห้าในความท้าทายนี้

เนื้อหาทั้งหมดในความท้าทายนี้มาจากจดหมาย (นิยมเรียกว่า “จดหมายฝาก” มาจากคำกรีกที่แปลว่า “ส่งข่าว”) เขียนโดยผู้นำคริสเตียน ถึงคริสตจักรที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง จดหมายมักถูกเขียนเพื่อตอบข้อสงสัยต่างๆ ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หนุนใจในยามทุกข์ยาก หรือถูกข่มเหง เนื้อหาของจดหมายส่วนนี้ เปาโล (ผู้ที่เขียนจดหมายสองฉบับถึงชาวโครินธ์) เปโตร ยากอบ และยอห์น มุ่งเน้นไปที่ชีวิตใหม่ในพระเยซูซึ่งเราได้รับเมื่อมาเป็นคริสเตียน และเราจะสำแดงสิ่งนี้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

 

เปโตรและยอห์น เป็นสาวกพวกแรกของพระเยซู (ดูในมัทธิว 4:18-21) และได้รับประสบการณ์โดยตรงในเรื่องความรักและความห่วงใยของพระองค์ที่มีต่อผู้อื่น

 

ยากอบคนนี้ เป็นไปได้ว่า คือ ยากอบ ที่เป็นน้องชายของพระเยซู และคาดว่าได้ใช้เวลาเต็มที่กับพระองค์เมื่อทั้งสองเติบโตขึ้นมาด้วยกัน แม้ดูเหมือนว่ายากอบจะไม่ได้เป็นสาวกวงในของพระเยซู ในช่วงที่พระองค์อยู่ในโลกนี้ แต่หลังจากเทศกาลเพนเทคอส ยากอบก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำของคริสตจักร (ดูในมัทธิว 13:55 และ กิจการ 15:13)

 

เราไม่มีหลักฐานว่าเปาโลเคยเห็นพระเยซูเมื่อพระองค์ยังอยู่ในโลกนี้ แต่ท่านกลายมาเป็นคริสเตียนด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าอัศจรรย์บนถนนดามัสกัส เมื่อพระเยซูได้ตรัสกับท่านเป็นการส่วนตัว (กิจการ 9)

 

ชายสี่คนนี้ เหมาะสมที่จะสอนเราได้ว่า “ชีวิตแบบพระเยซู” ควรเป็นเช่นไร เนื้อหาจาก 2 โครินธ์ ทำให้เรามองเห็นภาพรวมทั้งหมดและน่าจะเป็นจุดที่เหมาะสมในการเริ่มต้นความท้าทายนี้ ตามด้วย 1 เปโตร ต่อด้วย 1 ยอห์น และยากอบ คำสอนทั้งหมดนี้จะถูกสรุปไว้ในเนื้อหาส่วนแรกจาก 1 โครินธ์

 

คำสอนในจดหมายฝากต่างๆ มักจะกว้างและลึก: ความท้าทาย 19 ได้แตะบางประเด็นหลักของเรื่องเหล่านี้ เตรียมตัวที่จะแบ่งปันเรื่องเหล่านี้กับเด็กๆ แต่อย่าเร่งเกินไป: จดหมายฝากเหล่านี้เขียนอย่างละเอียดและซับซ้อน เด็กๆไม่จำเป็นต้องรีบหรือทำความเข้าใจทั้งหมดภายในครั้งเดียว นี่คือประเด็นสำคัญๆบางประการของเรื่องนี้

• พระเจ้าคือผู้เดียวที่ทรงเรียกเรา พระองค์ทรงรักเราเสมอ พระองค์สิ้นพระชนม์เพื่อให้เราได้รับชีวิตใหม่ แต่เราตอบสนองได้ เมื่อพระเจ้าทรงเรียกเราก่อนเท่านั้น

• เมื่อเราเลือกที่จะติดตามพระองค์ เรากลายเป็นคนใหม่ เราย้ายฝั่งและกลายมาเป็นสหายของพระเจ้า ไม่ใช่ศัตรู และเราก็หนุนใจให้คนอื่นๆทำแบบนี้เช่นกัน

• การเป็นคนใหม่ หมายถึงการมีวิถีชีวิตแบบใหม่ พระเยซูเป็นแบบอย่างและพระผู้ช่วยของเรา เราอาจต้องเปลี่ยนแปลงแบบหักดิบ หรือเราอาจถูกพระเยซูท้าทายให้ละทิ้งวิถีชีวิตแบบเดิมแบบค่อยเป็นค่อยไป

• ชีวิตใหม่ของเรา (โดยเฉพาะความรัก) จะแสดงออกมาผ่านการดำเนินชีวิตของเรา ความรักควรเป็นหัวใจสำคัญของทุกสิ่งที่เราเป็นและทำ แค่คิดที่จะรักยังไม่พอ เราต้องแสดงความรักออกมาด้วย

• การดำเนินชีวิตแบบนี้ เราจะแตกต่างจากคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเราในโลกนี้ บางครั้งเราอาจถูกเข้าใจผิดหรือถูกเยาะเย้ย แต่เราสามารถชื่นชมยินดีได้ เพราะว่าเราคือประชากรของพระเจ้า


  • 91 God’s love.jpg
    1 โครินธ์ 13:7 ความรักทนได้ทุกอย่างแม้ความผิดของคนอื่น และเชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอ และมีความหวังอยู่เสมอ และทนต่อทุกอย่าง

  • 92 A new person.jpg
    2 โครินธ์ 5:17 ฉะนั้น ถ้าใครอยู่ในพระคริสต์ เขาก็เป็นคนที่ถูกสร้างใหม่แล้ว สิ่งสารพัดที่เก่าๆ ก็ล่วงไป นี่แน่ะกลายเป็นสิ่งใหม่ทั้งนั้น

  • 93 Come to Jesus!.jpg
    1 เปโตร 2:10 เมื่อ​ก่อน​พวก​ท่าน​ไม่​ใช่​ประ​ชา​กร แต่​บัด​นี้​พวก​ท่าน​เป็น​ประ​ชา​กร​ของ​พระ​เจ้า​แล้ว เมื่อ​ก่อน​พวก​ท่าน​ไม่​ได้​รับ​พระ​เมต​ตา แต่​บัด​นี้​พวก​ท่าน​ได้​รับ​พระ...

  • 94.jpg
    ยากอบ 2:17 ลำ​พัง​ความ​เชื่อ ถ้า​ไม่​มี​การ​ปฏิ​บัติ ก็​เป็น​สิ่ง​ที่​ตาย​แล้ว

  • 95 Love one another.jpg
    1 ยอห์น 4:7 ท่าน​ที่​รัก​ทั้ง​หลาย ขอ​ให้​เรา​รัก​กัน​และ​กัน เพราะ​ว่า​ความ​รัก​มา​จาก​พระ​เจ้า และ​ทุก​คน​ที่​รัก​ก็​เกิด​จาก​พระ​เจ้า และ​รู้​จัก​พระ​เจ้า

 

ใคร่ครวญ: ความท้าทายนี้มีความหมายอย่างไรในปัจจุบัน

มีหลายสิ่งในจดหมายฉบับพันธสัญญาใหม่ (โดยเฉพาะคำที่ยาวๆ) ที่ยากจะเข้าใจ แม้แต่สำหรับผู้ใหญ่ แต่ภาพรวมในหัวข้อ “พระเจ้าทรงช่วยให้เราเป็นคนที่ดีกว่าเดิม” และ “การรักและห่วงใยผู้อื่น” ยังง่ายพอสำหรับทุกคนที่จะเข้าใจได้ เราสามารถช่วยให้เด็กๆเข้าใจพระวจนะได้ ด้วยวิธีการเหล่านี้

• มีคำว่า “รัก” ปรากฏอยู่ในพระธรรมตอนนี้กี่ครั้ง? หรือฟังและตบมือทุกครั้งเมื่อได้ยินคำว่า “รัก”

• ให้นับว่ามีกี่ครั้งที่พระธรรมตอนนี้บอกว่า พระเจ้ารักเรา

• หาข้อพระคำที่บอกว่าพระเจ้าสร้างเราให้เป็นคนใหม่

• พระธรรมตอนนี้บอกว่าเราควรทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือคนอื่น?

 

จำไว้ว่าผู้ที่เขียนจดหมายเหล่านี้ รู้จักกับพระเยซูอย่างสนิทสนม พวกเขาไม่เพียงแค่เคยพบพระเยซูเท่านั้น แต่พวกเขาใช้ชีวิตร่วมกับพระองค์ด้วย ลองคิดด้วยกันถึงพระราชกิจต่างๆของพระเยซูที่พวกเขาได้เห็น หรือเรื่องราวต่างๆ ที่พวกเขาได้ฟัง ผู้เขียนจดหมายเหล่านี้ เป็นพยานที่อยู่ในเหตุการณ์และเราก็ได้รับข้อความจากพวกเขาโดยตรง เหมือนการแนะนำเค้กสักชิ้นให้ใครบางคน แล้วบอกว่า “ฉันรู้ว่านี่คือเค้กที่อร่อยมาก เพราะฉันลงมือทำด้วยตัวเอง”

 

เราสามารถเชื่อในถ้อยคำของผู้เขียนได้ เพราะเขารู้อย่างแน่นอนว่ากำลังเขียนเรื่องอะไรอยู่ และถึงแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากมาย แต่พฤติกรรมของผู้คนก็ยังเหมือนเดิม คนอาจเปลี่ยนมาขับรถแทนการขี่เกวียน แต่เขาก็ยังคงร่าเริง, หน้าบูดบึ้ง, มีน้ำใจ หรือไม่ยอมใคร ในปัจจุบันนี้ก็ไม่ต่างกัน พฤติกรรมและการตอบสนองของเราต่อโลกในวันนี้ ก็ไม่ต่างอะไรจากช่วงเวลาที่จดหมายเหล่านั้นถูกเขียนขึ้น

 

พระเจ้ายังคงกระทำกิจในการช่วยผู้คนให้เปลี่ยนแปลง ถ้าคุณได้อ่านความท้าทาย 16 เรื่องของเปาโลที่กลับใจมาเป็นคริสเตียน คุณคงพอจะจำได้ ยังมีเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วย อย่างเช่นเรื่องนี้:

 

คริสจะต้องไปขึ้นศาลในคดีอาชญากรรมที่ไม่รุนแรง แต่นี่ไม่ใช่ความผิดครั้งแรกของเขา และผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในวันนั้น อยากจะ “ทำให้เป็นตัวอย่าง” ของผู้ที่ทำความผิดทางอาญาลหุโทษ เขาคิดว่าต้องติดคุกแน่ๆ เขารู้สึกกลัวมากและอธิษฐานขอพระเจ้าช่วยให้เขาไม่ถูกตัดสินจำคุก ก่อนที่จะไปขึ้นศาล ผู้พิพากษาคนนั้นก็ไม่สบาย ปวดท้อง และผู้พิพากษาอีกท่านที่อ่อนโยนมากกว่าเข้ามาทำหน้าที่แทน คริสจึงถูกปรับเงินและสั่งให้ไปบำเพ็ญประโยชน์แทน และเขารู้สึกซาบซึ้งในพระเจ้า และได้กลายมาเป็นสาวกของพระเยซู

 

ความรักไม่เปลี่ยนแปลง ความรักยังเป็นและจะเป็นแรงจูงใจของการกระทำที่พระเจ้าทรงกระทำเพื่อเรา ดังนั้น สิ่งนี้ควรจะเป็นหัวใจสำคัญของทุกการกระทำของเราเช่นกัน

ไขข้อข้องใจ: คำถามที่เด็กๆ อาจถามเกี่ยวกับความท้าทายนี้

 เพราะเหตุใดพระคัมภีร์จึงบอกให้เราหันหลังจากชีวิตเก่า แล้วติดตามพระเยซู? ฉันรู้จักพระเยซูมานานแล้ว และไม่คิดว่าฉันมีชีวิตเก่าที่ต้องหันหลังให้

เป็นเรื่องน่าชื่นใจที่ใครบางคนเติบโตขึ้นและได้รู้จักพระเยซูมาตลอดชีวิต นั่นคือสิ่งที่พระเจ้าต้องการให้เราเป็น แต่ถึงแม้เป็นเช่นนั้น เราแต่ละคนก็ต้องแน่ใจจริงๆว่า การติดตามพระเยซูไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่เราทำด้วยความเคยชิน แต่เป็นสิ่งที่เราปรารถนาจะทำจริงๆ

ผู้คนมากมายไม่ได้เรียนรู้เรื่องของพระเยซูเมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก หรืออาจจะลืมเรื่องของพระเยซูไปแล้ว สำหรับคนเหล่านั้น การหันหลังกลับ จะเป็นสิ่งที่ชัดเจนและชีวิตใหม่ของเขาจะแตกต่างจากเดิมมาก

 


คุย: กับพระเจ้า

ความท้าทาย 19 ให้โอกาสเราได้ค้นพบและรู้ตัวว่าชีวิตของเราสามารถส่งผลกระทบต่อผู้อื่นได้อย่างไร กิจกรรมนี้จะช่วยให้เด็กๆเห็นภาพของคำสอนและเนื้อหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

เตรียมชามใบใหญ่ใส่น้ำไว้ (แบบที่ตกไม่แตก) แล้วเก็บก้อนหิน หรือก้อนกรวด หรือหินอ่อนแก้ว มาหนึ่งกำมือ จากนั้น ให้นั่งหรือยืนในที่ๆคุณสามารถมองเห็นน้ำข้างในชามได้

 

หยิบก้อนหินขึ้นมา แล้วค่อยๆปล่อยลงไปในน้ำ สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น คุณมองเห็นคลื่นบนผิวน้ำหรือไม่? คลื่นกระจายตัวออกไปหรือไม่? คลื่นวิ่งตรงไปที่ขอบชามหรือไม่? อะไรทำให้เกิดคลื่นเหล่านั้น? รอจนกว่าผิวน้ำจะนิ่งอีกครั้ง

 

ชวนลูกของคุณ ให้เลือกก้อนหินและปล่อยลงไปในน้ำอย่างระมัดระวัง สังเกตอีกครั้งว่าเกิดอะไรขึ้น คุณมองเห็นคลื่นที่กระจายออกไปถึงขอบชามหรือไม่? บอกเขาว่า ชีวิตของเราก็เป็นแบบนั้น สิ่งที่เราทำจะส่งผลต่อผู้อื่น ชีวิตเรามีผลต่อคนอื่นและคนอื่นก็มีผลต่อชีวิตของเรา

 

อธิบายว่าพระเยซูต้องการให้เรามีอิทธิพลในด้านที่ถูกต้องต่อผู้อื่น ขณะที่เราเรียนรู้การดำเนินชีวิตในทางของพระเจ้า นี่คือ เนื้อหาของความท้าทาย 19 อธิษฐานขอพระเจ้าใช้ชีวิตของเราให้ “เป็นพร” ต่อผู้อื่น (ในพระคัมภีร์ฉบับ Good News ใช้คำว่า “สร้างความสุข” เด็กๆ น่าจะตื่นเต้นเมื่อได้รู้ว่าเขาสามารถทำให้คนอื่นมีความสุขได้ และการทำเช่นนั้นคือการดำเนินชีวิตในทางของพระเจ้า) ให้พูดประมาณนี้ว่า “ลูซี่ เธอจะทำให้คนรอบข้างมีความสุขในสัปดาห์นี้ได้ไหม” จากนั้น ให้ลูกของคุณอธิษฐาน “อวยพร” ให้กับคุณในแบบเดียวกัน